ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป(ชื่อเดิมหน่วยพลังงานปรมาณู) สังกัดคณะวิทยาศาสตร์
ได้มีอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ประกอบการเรียนการสอน การวิจัย และการให้บริการฉายรังสีแก่หน่วยงาน
ต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน อุปกรณ์ดังกล่าวนี้คือเรือนรุกขรังสี (Gamma Greenhouse)
ลักษณะเป็นเรือนกระจกที่ใช้ในการฉายรังสีพืชที่กำลังเจริญเติบโต โดยให้พืชรับรังสีปริมาณน้อยๆ
แต่ได้รับเป็นเวลานาน ซึ่งเรียกว่าการฉายรังสีแบบโครนิก(Chronic irradiation)
สามารถติดตามผลของรังสีต่อการเจริญเติบโตและการกลายพันธุ์ของพืชได้ตลอดชีพจักรของพืช
เรือนรุกขรังสีนี้จัดสร้างโดยความริเริ่มดำเนินการของ ศาสตราจารย์ ดร.อรรถ นาครทรรพ
ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยพลังงานปรมาณูขณะนั้น เรือนรุกขรังสีสร้างแล้วเสร็จและใช้งานได้ในปี 2505
ต้นกำเนิดรังสีที่ใช้ครั้งแรกคือ โคบอลต์-60 (60Co) กำลังแรง 20 คูรี และต่อมาได้เปลี่ยนต้นกำเนิด
รังสีเป็น ซีเซียม-137 (137Cs) กำลังแรงในขณะติดตั้งคือ 100 คูรีเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2508
ค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างรวมทั้งค่าต้นกำเนิดรังสีมูลค่า 303,300 บาทโดยใช้งบของรัฐบาลไทยในการ
ก่อสร้างเรือนรุกขรังสี เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน การวิจัย และการให้บริการติดต่อกับจน
ถึง พ.ศ. 2526

               การหยุดใช้งานเรือนรุกขรังสี เนื่องจากที่ตั้งของเรือนรุกขรังสีอยู่บนที่ดินซึ่งเป็นส่วน
ที่กำหนดให้เป็นเขตของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งใน พ.ศ.
2526 ศูนย์วางแผนพัฒนาการเกษตรแห่งอาเซียน (ASEAN Agricultural Development
Planning Center) สังกัดสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้จัดสร้างหอพักอาเซียน(ASEAN
ADPC Dormitory) ซึ่งเป็นอาคารสูง 4 ชั้น มีที่ตั้งอยู่ติดกับเรือนรุกขรังสี เนื่องจากเรือนรุกขรังสี
ได้จัดสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในขณะนั้น และมิได้จัดสร้างเพื่อใช้งานในสภาพที่มีอาคารสูง
มาอยู่ใกล้ชิดเช่นนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยในหอพักอาเซียนภาควิชารังสีฯ โดยความ
เห็นชอบของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้หยุดการใช้งานเรือนรุกขรังสีตั้งแต่ปี 2526 เป็นต้นมา

                               


               ศ.ดร.สุมินทร์ สมุทคุปติ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป
ได้จัดทำโครงการจัดสร้างและเคลื่อนย้ายเรือนรุกขรังสีไปยังวิทยาเขตกำแพงแสน โดยจัดทำ
โครงการเสนอมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อบรรจุเข้าไปในกลางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและ
สังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5(พ.ศ. 2525-2529) แต่ไม่ประสบผลสำเร็จในเรื่องการของบประมาณ
จึงได้ดำเนินการบรรจุเข้าไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 (พ.ศ.
2530-2534) แต่ก็ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณอีกเช่นกัน นอกจากการจัดทำคำของบ
ประมาณแล้ว ยังได้ดำเนินการขอให้มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์จัดสรรที่ดินจำนวน 30 ไร่
ที่วิทยาเขตกำแพงแสน เพื่อให้เป็นที่จัดสร้างเรือนรุกขรังสีซึ่งมหาวิทยาลัยได้อนุมัติในหลักการ
ให้ใช้ที่ดินแปลง A3 วิทยาเขตกำแพงแสนเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2530 และในวันที่ 2 มิถุนายน
2530 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานโครงการเคลื่อนย้ายเรือน
รุกขรังสี และแหล่งรังสีแกมมาพลังงานสูงไปยังวิทยาเขตกำแพงแสนเพื่อทำหน้าที่ศึกษาข้อมูล
ทางวิชาการเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายเรือนรุกขรังสี และออกแบบเรือนรุกขรังสีใหม่ การเตรียม
ที่ดินในวิทยาเขตกำแพงแสนรวมทั้งการจัดทำงบประมาณการเคลื่อนย้ายทั้งหมด

          ในปลายปีพ.ศ. 2530 ศ.ดร. สิรนุช ลามศรีจันทร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชารังสีประยุกต์
และไอโซโทป สืบต่อจาก ศ.ดร.สุมินทร์ สมุทคุปติ์ ได้ร่วมกับอาจารย์ในภาควิชา จัดทำคำขอความช่วย
เหลือทางวิชาการจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ(IAEA) ภายใต้ความช่วยเหลือทางวิชา
การภาคปกติ (Technical Cooperation Project, TC-project) สำหรับปี ค.ศ. 1989-90 โดยมีชื่อโครงการ
ว่า "Replacing the gamma irradiation facility with a gamma greenhouse for low dose and chronic
irradiation of plants at Khamphaeng Saen Campus"
ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะอนุกรรมการ
พลังงานปรมาณูในกิจการเกษตรคัดเลือกเป็นโครงการที่ส่งไปขอความช่วยเหลือจากทบวงการฯ เมื่อ
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2531

          วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2532 ได้รับแจ้งจากสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ(พปส) ว่าทบวงการฯ
ได้ให้ความช่วยเหลือแก่โครงการที่ขอไปและเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น "Mutation Breeding of Cereals
and Legumes (THA/5/037)"
โดยมี ศ.ดร.สิรนุช ลามศรีจันทร์ เป็นหัวหน้าโครงการทบวงการฯ ให้
ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ภาควิชาฯ เป็นทุนสำหรับอาจารย์ได้ดูงาน และฝึกอบรม 3 ทุน และเป็นทุน
สำหรับผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำ 1 ทุน ผู้เชี่ยวชาญที่มาให้คำแนะนำแก่โครงการเป็นคนแรกคือ
Dr.E.Amano ซึ่งมีส่วนสำคัญยิ่งในการผลักดันโครงการให้ดำเนินต่อไป  Dr.E.Amano  ได้เดินทางมา
ให้ความรู้และเป็นที่ปรึกษาให้คณะทำงานโครงการเคลื่อนย้ายเรือนรุกขรังสี      รวมทั้งการประสาน
งานกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อให้การสนับสนุนโครงการ          เนื่องจากโครงการมี
วัตถุประสงค์จะจัดตั้งเรือนรุกขรังสีที่วิทยาเขตกำแพงแสน ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแบบแปลน
ของเรือนรุกขรังสี Dr.E.Amano ได้ว่าจ้างวิศวกรชาวญี่ปุ่น Mr.Matzusawa ให้ออกแบบเรือน
รุกขรังสีให้โดยใช้เงินของโครงการ THA/5/037 ซึ่งแบบแปลนต่อมาได้รับการเห็นชอบจากทบวงการฯ
และ จัดส่งให้ภาควิชาฯ เพื่อใช้ในการจัดสร้างต่อไป

             เนื่องจากสิ้นสุดโครงการ THA/5/037 แล้วทางภาควิชาฯ มีแบบแปลนที่สมบูรณ์พร้อมที่จะจัด
สร้างเรือนรุกขรังสีที่วิทยาเขตกำแพงแสนได้ แต่ปัญหาในขณะนั้นคือ ขาดงบประมาณในการก่อสร้าง
และขาดสถานที่ก่อสร้าง(เนื่องจากไม่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ที่ดินที่วิทยาเขตกำแพงแสนแม้จะได้รับอนุมัติ
ในหลักการไว้ในปี 2530 แล้ว) ดังนั้นเพื่อให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ภาควิชาฯ โดย ศ.ดร.สิรนุช
ลามศรีจันทร์ ร่วมกับอาจารย์ในภาควิชาฯ จึงได้จัดทำโครงการขอความช่วยเหลือจากทบวงการฯ เป็น
ครั้งที่ 2 โดยได้รับความช่วยเหลือจาก Dr.E.Amano ในการให้คำแนะนำในการจัดทำโครงการ
โครงการที่จัดทำใหม่มีชื่อว่า " Establishment of new gamma greenhouse for low dose
and chronic irradiation at Khamphaeng Saen Campus"
ได้ส่งไปยังทบวงการฯ เมื่อวันที่
19 มีนาคม 2534
               ในวันที่ 16 ตุลาคม 2535 ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการจากสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ
(พปส)ว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือได้ให้ความช่วยเหลือโครงการจัด
สร้างอาคารฉายรังสี โดยผ่านทบวงการฯ ความช่วยเหลือนี้อยู่ภายใต้โครงการ THA/5/039 โดยให้ความ
ช่วยเหลืออยู่ในรูปของผู้เชี่ยวชาญ และอุปกรณ์มีมูลค่ารวม 204,300 เหรียญสหรัฐ และในวันที่ 21 เมษายน
2536 ได้รับแจ้งจาก พปส.อีกครั้งว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรฯ ได้ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 64,750
เหรียญสหรัฐ รวมมูลค่าความช่วยเหลือ 269,050 เหรียญสหรัฐ

               ถึงแม้ว่าจะได้รับความช่วยเหลือด้านผู้เชี่ยวชาญ และอุปกรณ์แล้วก็ตาม ภาควิชาฯ ยังไม่สามารถ
แก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้คือการจัดหางบประมาณในการก่อสร้าง และการจัดหาสถานที่สำหรับสร้างอาคารฉาย
รังสี ภาควิชาฯ ได้ดำเนินการขอให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างเรือนรุกขรังสีขึ้น
โดยมีคณบดีคณะวิทยาศาสตร์(ศ.ดร.สุมินทร์ สมุทคุปติ์) เป็นประธาน และมีนายวัลลภ บุญคง รองเลขาธิการ
สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นที่ปรึกษาของคณะทำงาน คณะทำงานประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูง
จากสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ 2 คน อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ 3 คน ผู้แทนจากงานผังแม่บท
(อาจารย์เสวก พลชัย) อาจารย์จากภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป 6 คนและจากภาควิชาฟิสิกส์ 1 คน
(ผศ. กุณฑลี สิงหเสนี) ซึ่งคอยทำงานทำหน้าที่ในการประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญที่ทบวงการฯ ส่งมา และเป็น
ผู้ให้ข้อมูลทางวิชาการกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

               ในระหว่างนี้คณะทำงานได้มีความเห็นชอบ ที่จะเปลี่ยนรูปแบบจากเรือนรุกขรังสีเป็นอาคารฉาย
รังสีแกมมา และเปลี่ยนที่ก่อสร้างจากวิทยาเขตกำแพงแสนเป็นวิทยาเขตบางเขนทั้งนี้มีเหตุผลหลายประการ
ที่สนับสนุนการตัดสินใจของคณะทำงานในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากแนวความคิดที่อาจารย์ของภาควิชาฯ ได้มี
โอกาสไปฝึกอบรม และดูงานภายใต้โครงการ THA/5/037 ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยว
ชาญหลายท่าน รวมทั้งได้รับจดหมายให้แนวความคิดจาก Dr.A.Micke ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าของ Plant
Breeding and Genetics Section ของทบวงการฯ ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2530 ด้วยว่าการจัดสร้างเครื่องฉาย
รังสีแกมมาเพื่อฉายรังสีแบบโครนิกในลักษณะเรือนฉายรังสีอาจจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
เนื่องจากต้องใช้พื้นที่กว้างขวางห่างไกลชุมชน ลักษณะของเรือนรุกขรังสีซึ่งเป็นเหมือนเรือนกระจกที่ให้
แสงสว่างส่องลงมาได้ทำให้ใช้ประโยชน์ได้น้อยกว่าการสร้างเป็นอาคารฉายรังสีแบบอาคารปิด ซึ่งสามารถ
ควบคุมอุณหภูมิและแสงสว่างให้เหมาะสมกับงานการฉายรังสีเนื้อเยื่อเพาะเลี้ยง(in vitro culture) ของพืช
นอกจากนี้เรือนรุกขรังสีหากสร้างขึ้นใหม่อาจประสบปัญหาเช่นเดียวกับเรือนรุกขรังสีหลังเก่า หากสภาพ
แวดล้อมเปลี่ยนไปมีการใช้พื้นที่ข้างเคียงสร้างอาคารสูงๆ ขึ้นในอนาคต คณะทำงานเห็นควรจัดสร้างที่
วิทยาเขตบางเขน เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนที่จะอำนวยความสะดวกให้นิสิต นักศึกษา
อาจารย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังสะดวกสำหรับเจ้าหน้า
ที่ของสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติที่จะมาตรวจสอบการใช้งานของอาคารฉายรังสีได้อย่างสม่ำเสมอ
เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูของประเทศไทย

               ในปลายปี พ.ศ. 2535 ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังในการขอใช้พื้นที่สร้างอาคารฉายรังสี
ที่วิทยาเขตบางเขน ภาควิชาฯ ได้จัดทำคำชี้แจงความจำเป็นของการจัดสร้างอาคารฉายรังสีแกมมา เนื่อง
จากเป็นพันธะที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรัฐบาลไทยจะต้องดำเนินการจัดสร้างอาคารฉายรังสีเพื่อ
รองรับความช่วยเหลือภายใต้โครงการ THA/5/039 นอกจากนี้ได้แสดงแผนการใช้งานอาคารฉายรังสี
และประโยชน์ของอาคารฉายรังสีซึ่งเป็นเอกสารความยาว 30 หน้าเสนอต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ในที่สุดอธิการบดี(ศ.ดร.กำพล อดุลวิทย์) ได้ให้ความเห็นชอบลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2535 โดยบันทึก
เป็นลายลักษณ์อักษรว่า "เห็นชอบให้จัดสถานที่ๆ วิทยาเขตบางเขน ในที่ๆ อยู่ใกล้เคียงกับ พปส. และขอ
ให้ พปส. ยืนยันการช่วยเหลือดูแลอาคารฉายรังสีแกมมา" สถานที่ๆ มหาวิทยาลัยจัดให้มีเนื้อที่ 1.5 ไร่
อยู่ด้านหลังของสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ และอยู่ใกล้กับภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของคณะประมง
               การจัดหางบประมาณเพื่อสร้างอาคารฉายรังสีนั้นนับว่าเป็นงานที่ยากกว่าการจัดหาสถานที่
ก่อสร้างหลายเท่า เพราะได้มีการจัดทำงบประมาณคำขอในการเคลื่อนย้ายเรือนรุกขรังสีตั้งแต่ปี พ.ศ.
2526 จนถึง พ.ศ. 2536 ก็ยังมิได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณ สำหรับงบประมาณปี พ.ศ. 2537
ที่ได้ขอตั้งไว้ในวงเงิน 16,667,500 บาทนั้น ทราบล่วงหน้าจากสำนักงานงบประมาณว่ามิได้จัดสรรให้
เช่นกัน   ซึ่ง  ศ.ดร.สุมินทร์ สมุทคุปดิ์ ได้นำเรื่องที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่ได้รับงบประมาณใน
การจัดสร้างอาคารฉายรังสีเข้าไปปรึกษาในคณะอนุกรรมการพลังงานปรมาณูในกิจการเกษตรซึ่ง
คณะอนุกรรมการพลังงานปรมาณูในกิจการเกษตรมีมติสนับสนุนโครงการนี้โดยประธานคณะอนุ
กรรมการพลังงานปรมาณูในกิจการเกษตร   (อธิบดีกรมวิชาการเกษตร)  ได้ลงนามในหนังสือแจ้งการ
สนับสนุนโครงการไปยัง เลขาธิการ พปส.     ซึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการพลังงาน
ปรมาณูเพื่อสันติสนับสนุนโครงการดังกล่าวนี้

                คณะอนุกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติได้เรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อ พิจารณาเรื่อง
นี้เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2536 ศ.ดร.สิรนุช ลามศรีจันทร์ และผศ.พรรณีพักคงได้รับเชิญให้เข้าไปชี้
แจงโครงการความช่วยเหลือในการจัดสร้างอาคารฉายรังสีที่ได้รับจากทบวงการฯ และสหราชอาณาจักรฯ
ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคต่อคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี(ดร.อำนวย
วีรวรรณ) เป็นประธานคณะกรรมการคณะกรรมการประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม(นายพิศาล มูลศาสตรสาทร) และผู้แทนจากกระทรวงต่างประเทศ กระทรวง
สาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนจาก
สำนักงบประมาณ ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้แก่ น.พ. ร่มไทร สุวรรณิก ศ.อรุณ สรเทศน์ นายไมตรี ตันเติมทรัพย์
นายธัชชัย สุมิตร มีเลขาธิการสำนักงาน พปส. นายสุชาติ มงคลพันธุ์เป็นกรรมการและเลขานุการ ในที่สุด
ที่ประชุมมีมติสนับสนุนโดยบันทึกในการประชุมว่า "เห็นชอบให้ผู้แทนสำนักงบประมาณในคณะกรรมการ
พลังงานปรมาณูเพื่อสันตินำเรื่องนี้ไปพิจารณาดำเนินการหาทางจัดสรรงบประมาณค่าก่อสร้าง ตามโครง
การของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยให้ประสานงานในรายละเอียดกับเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยฯ
"โดยเลขาธิการ พปส. ได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานงบประมาณ ลงวันที่ 28 กันยายน 2536 แจ้ง
มติของคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ขอให้ผู้อำนวยการสำนักงานงบประมาณพิจารณาจัดสรร
ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

              ในที่สุดสำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อจัด
สร้างอาคารฉายรังสีแกมมาเป็นงบผูกพัน 2 ปี โดย พ.ศ. 2538 ให้งบประมาณ 2 ล้านบาท ใน พ.ศ. 2539
ให้งบประมาณอีก 15,892,600 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 17,892,600 บาท


             Mr.Paul Stephens เป็นผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษที่ทบวงการฯ จัดส่งมาช่วยในการออกแบบอาคารฉาย
รังสีที่จะติดตั้งเครื่องฉายรังสีที่มี Co-60 เป็นต้นกำเนิดรังสี Mr.Paul Stephens เป็นผู้ออกแบบหลัก(Conceptual
Design)
ของอาคารฉายรังสีส่วนการออกแบบในรายละเอียดของโครงการทั้งหมดซึ่งประกอบด้วยอาคารฉายรังสี
อาคารสำนักงาน และเรือนเพาะชำดำเนินการโดยบริษัทไตรเทคคอนซัลแตนท์ ซึ่งคิดค่าจ้างในการออกแบบ
เป็นเงิน  983,062.50  บาท  การออกแบบในรายละเอียดได้เสร็จสิ้นประมาณเดือนกันยายน 2538 อธิการบดี
ได้ลงนามอนุมัติแบบและได้อนุมัติว่าจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้างโครงการอาคารฉายรังสีโดยวิธีประกวดราคา
พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานในการจัดจ้างและตรวจการจ้างขึ้น   ห้างหุ้นส่วน   สิทธิพงษ์รวมมิตร
จำกัดได้รับงานก่อสร้างโครงการอาคารฉายรังสีแกมมาโดยมี Mr.Paul Stephens เดินทางมาควบคุมการก่อสร้าง
อาคารฉายรังสีแกมมาในขั้นตอนที่สำคัญ เช่น ขั้นตอนการเทคอนกรีตสำหรับอาคารฉายรังสี ที่จะต้องเป็นไปตาม
หลักวิชาการอย่างเคร่งคัด

             การก่อสร้างอาคารฉายรังสี อาคารสำนักงาน และเรือนเพาะชำได้สำเร็จเป็นรูปร่างประมาณกลางเดือน
ธันวาคม 2539

             สำนักงบประมาณได้อนุมัติให้จัดซื้อครุภัณฑ์ประกอบอาคารจำนวน 52 รายการเป็นเงิน 7,350,804 บาท
ให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2540

       Mr.Paul Stephens และทีมงานประกอบด้วย Mr.Dave Howarth และ Mr. Peter Kondula
ได้เดินทางมาติดตั้งเครื่องฉายรังสีแกมมาระหว่าง 23 กุมภาพันธ์ - 6 มีนาคม 2540 เครื่องฉายรังสีแกมมา
ได้มีการออกแบบและติดตั้งจำนวน 3 ชุด เพื่อให้การใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยสามารถเลือกใช้ใน
การฉายรังสีทีละชุด หรือใช้ร่วมกันทั้งหมดได้ การบรรจุต้นกำเนิดรังสีที่มีความแรงประมาณ 800 คูรีได้
ดำเนิน การโดย Mr.Paul Stephens และ Mr.Dick Rees และเสร็จสิ้นในวันที่ 2 พฤษภาคม 2540
เครื่องฉายรังสีทั้ง 3 ชุดได้บรรจุต้นกำเนิดรังสีความแรง 200, 200 และ400 คูรีโดยกำหนดให้มีความแรง
ของรังสีเพียงพอสำหรับใช้งานรวมกันประมาณ 15 ปี

       ในวันที่ 15 กันยายน 2540 เมื่อ Dr. Beant Ahloowalia ผู้เชี่ยวชาญ จากทบวงการฯ ได้มาติดตามงาน
ของโครงการ THA /5/039 อาจารย์และเจ้าหน้าที่ของภาควิชาฯ ได้พา Dr. Beant Ahloowalia มาดูอาคารฉาย
รังสีแกมมาและได้สาธิตการทำงานของเครื่องฉายรังสีให้ชม พบว่าเกิดปัญหาขัดข้องไม่สามารถเดินเครื่องได้
อย่างปกติ ภาควิชาฯได้แจ้งเรื่องให้ Mr. Paul Stephens ที่กรุง ลอนดอน สหราชอาณาจักรฯ ทราบ Mr. Paul
Stephens
เดินทางมาตรวจสอบเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2540 พบว่ามีการต่อไฟฟ้าสลับเฟสเข้าสู่อาคารฉายรังสี
ซึ่งเกิดจากความบกพร่องผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ของห้างหุ้นส่วนสิทธิพงษ์รวมมิตรจำกัด ที่ได้ดำเนินการต่อไฟ
ฟ้า ของการไฟฟ้าเข้าสู่อาคารฉายรังสีโดยไม่ได้ตรวจสอบให้ถูกต้อง จึงมีการต่อสลับเฟสเข้ามาและก่อให้เกิด
ความเสียหายกับเครื่องฉายรังสีแกมมาจนใช้การไม่ได้ ซึ่งจะต้องมีการซ่อมเครื่องฉายรังสีใหม่โดยการนำต้น
กำเนิดรังสีออก และตรวจแก้ไขความเสียหายของเครื่องฉายรังสีทั้งหมดแล้วจึงบรรจุต้นกำเนิดรังสีเข้าไปใหม่
มิฉะนั้นจะไม่สามารถใช้การได้เลย ได้มีการเจรจาเรื่องค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเครื่องฉายรังสีที่ประกอบด้วย
ค่าผู้เชี่ยวชาญรวมทั้งเจ้าหน้าที่และค่าอุปกรณ์มีการต่อรองหลายครั้งจากราคา 32,500 ปอนด์จนครั้งสุดท้ายได้
ราคาต่ำสุด มีมูลค่า 23,500 ปอนด์ นอกจากนี้ ศ.ดร.สิรนุช ลามศรีจันทร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ THA/5/039
ได้ขอความช่วยเหลือไปยังทบวงการฯ ให้ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซ่อมอาคารฉายรังสี ซึ่งในที่สุดทบวงการฯ
ได้รับออกค่าใช้จ่ายสำหรับผู้เชี่ยวชาญมูลค่า 9000 ปอนด์ ที่เหลืออีก 14,500 ปอนด์ นั้นทางมหาวิทยาลัยฯ โดย
รองอธิการบดีฝ่ายการเงิน(รศ.รุ่งเจริญ กาญจโนมัย)ได้ดำเนินการขอให้ห้างหุ้นส่วนสิทธิพงษ์รวมมิตรจำกัด
ออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

       ได้มีการโอนเงิน 14,500 ปอนด์ (1,271,035 บาท)จากประเทศไทยไปยังบัญชีของทบวงการฯ ที่ลอนดอน
ในวันที่ 16 มกราคม 2541 และได้รับตอบเป็นทางการจากทบวงการฯ วันที่ 26 มกราคม 2541

       Mr. Paul Stephens และ Dick Rees ได้มาซ่อมอาคารฉายรังสีระหว่างวันที่ 18-25 เมษายน 2541

       Mr. Paul Stephens ได้เขียนไว้ในสมุดเยี่ยมศูนย์ฯ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2541 ว่า " I wish you every
success with the facility. It was a pleasure working with you all. Please do not reverse the three phase
supply again "

       สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความเห็นชอบและอนุมัติให้ตั้งชื่อโครงการอาคารฉายรังสีแกมมา
เป็น " ศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี " ในการประชุมครั้งที่ 1/2540 วันที่ 6 มกราคม
2540 โดยให้เป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่อคณะวิทยาศาสตร์ ระยะเริ่มต้นการดำเนินงานยังคงใช้บุคลากรของภาควิชา
รังสีประยุกต์และไอโซโทป จนกว่าจะมีงบประมาณและบุคลากรของศูนย์ฯ

       ศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี มีสิ่งก่อสร้างประกอบด้วยอาคารสำนักงาน และ
ห้องปฏิบัติการวิจัย 1 หลัง เป็นอาคาร 2 ชั้น มีพื้นที่ 825 ตารางเมตร อาคารฉายรังสีแกมมา ซึ่งเป็นอาคารชั้น
เดียว พื้นที่ 168 ตารางเมตร และเรือนเพาะชำมีพื้นที่ 100 ตารางเมตร

       อาคารฉายรังสีแกมมาเป็นอาคารปิด มีผนังและหลังคาเป็นคอนกรีตหนา 1.75 เมตร สามารถกำบังรังสีให้
อยู่ในระดับที่ปลอดภัยสูงสุดต่อผู้ปฏิบัติงาน และต่อสภาพแวดล้อม ภายในอาคารมีการควบคุมอุณหภูมิ และแสง
สว่างให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช และเนื้อเยื่อพืชที่นำมาฉายรังสี ต้นกำเนิดรังสีเป็นโคบอลต์ - 60
กำลังแรงรวมกัน 800 คูรี ต้นกำเนิดรังสีแบ่งเป็น 3 ชุด คือ 200, 200 และ 400 คูรี แต่ละชุดบรรจุอยู่ในท่อที่
แบ่งแยกจากกัน การใช้งานสามารถเลือกใช้ต้นกำเนิดรังสีทีละชุด หรือใช้พร้อม ๆ กันได้ เหมาะสมสำหรับการ
ฉายรังสีแบบโครนิก (chronic irradiation) ต้นกำเนิดรังสีและเครื่องฉายรังสีดังกล่าวนี้ ได้รับความช่วยเหลือ
จากรัฐบาล สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ และไอแลนด์เหนือ

       นอกเหนือจากเครื่องฉายรังสีแบบโครนิค ซึ่งอยู่ในห้องฉายรังสีแล้ว ด้านหน้าของห้องฉายรังสี ซึ่งเป็น
ห้องควบคุม (control room) ยังมีเครื่องฉายรังสีแบบเฉียบพลัน (acute irradiation) ตั้งอยู่อีก 1 เครื่อง เป็น
เครื่องฉายรังสีที่มีต้นกำเนิดรังสีแกมมาเป็น ซีเซียม-137 มีกำลังแรงรวมกัน 4,500 คูรี เป็นเครื่องฉาย
รังสีรุ่นมาร์ควัน (Irradiator Mark I) จัดซื้อด้วยงบประมาณของรัฐบาลไทย ในวงเงิน 6.5 ล้านบาท เป็นเครื่อง
ฉายรังสีที่เหมาะสม สำหรับการฉายรังสีที่ต้องการปริมาณรังสีสูง และฉายเสร็จสิ้นในระยะเวลาอันสั้น

       เนื่องจากความไม่ชัดเจนของการบริหารจัดการ และสังกัดของศูนย์ฯ ต่อมาจึงได้มีการทบทวนเรื่องโครง
สร้างการบริหารงานและงบประมาณของศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยีใหม่โดย
ผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วยอธิการบดี (ศ.ดร.ธีระ สูตะบุตร) รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ
(รศ. ดร. สุพจน์ เฟื่องฟูพงศ์) คณะบดีวิทยาศาสตร์(รศ. ดร. วินิจ เจียมสกุล) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและ
พัฒนา (รศ. ดร. นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์)หัวหน้าภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป (รศ. อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์)
และรักษาการหัวหน้าศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี (ศ. ดร. สิรนุช ลามศรีจันทร์)
ได้ประชุมปรึกษาหารือหลายครั้งในที่สุดมีมติร่วมกันให้ศูนย์ฯ ย้ายสังกัดจากคณะวิทยาศาสตร์ มาเป็นศูนย์
ในสังกัดของสถาบันวิจัยและพัฒนา เพื่อการคล่องตัวในการบริหารจัดการ เนื่องจากเห็นว่าลักษณะของงานของ
ศูนย์ฯ สอดคล้องกับงานสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อนุมัติให้ศูนย์ฯ เข้าสังกัดที่สถาบัน
วิจัยและพัฒนา เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2541 และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ออกประกาศลงวันที่ 18 พฤษภาคม
2542 แต่งตั้งคณะกรรมการของศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยีขึ้น 2 ชุดประกอบด้วย

  1. คณะกรรมการนโยบายศูนย์โดยมีรองอธิการบดีผ่ายวิจัยและบริการวิชาการเป็นประธานกรรมการ
    ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา และคณบดีคณะวิทยาศาสตร์เป็นรองประธานกรรมการ มีคณบดีคณะ
    ต่างๆที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ รวมทั้งหัวหน้าภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป ส่วนหัวหน้าศูนย์ฯ
    ทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ให้คำปรึกษา และวางนโยบาย
    เกี่ยวกับการบริหารจัดการและแผนงานต่างๆของศูนย์ เพื่อให้คณะกรรมการดำเนินงานได้นำไปปฏิบัติ
    โดยมีเป้าหมายให้ศูนย์ฯ สามารถปฏิบัติภารกิจต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนา
    ทางด้านวิทยาศาสตร์ และการเกษตรของประเทศต่อไป
  2. คณะกรรมการดำเนินงานของศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี ประกอบด้วย
    คณะกรรมการที่เป็นอาจารย์ของภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป อาจารย์จากภาควิชาพันธุศาสตร์
    ภาควิชาพฤกษศาสตร์และภาควิชาพืชไร่นาและผู้แทนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาโดยมีหัวหน้าศูนย์ฯ
    เป็นประธานกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ในการบริหารจัดการ และดำเนินงานต่างๆ ของศูนย์ ตามที่ได้รับมอบ
    หมายจากคณะกรรมการนโยบายฯ เพื่อให้ศูนย์ฯ ได้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาวิชาการทางด้าน
    วิทยาศาสตร์และการเกษตรของประเทศ

         คณะกรรมการทั้ง 2 ชุดมีวาระ 4 ปี พร้อมกันนั้นได้มีประกาศแต่งตั้ง ศ.ดร. สิรนุช ลามศรีจันทร์ เป็น
หัวหน้าศูนย์ฯ ให้มีวาระการดำรงตำแหน่งครั้งละ 2 ปี โดยดำรงตำแหน่งวาระแรกเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2542


             ศูนย์ฯ ได้กำหนดภาระหน้าที่และความรับผิดชอบไว้เป็นแนวปฏิบัติดังนี้

    1. สนับสนุนการเรียนการสอนด้านการใช้รังสีและนิวเคลียร์เทคโนโลยี ของนิสิตระดับปริญญาตรี โท
      เอก ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
    2. สนับสนุนการวิจัยของนิสิต นักศึกษา อาจารย์ ข้าราชการ ให้ได้ใช้อุปกรณ์เครื่องฉายรังสีแกมมา
      รวมทั้งห้องปฏิบัติการนิวเคลียร์เทคโนโลยี เพื่อทำปัญหาพิเศษ วิทยานิพนธ์ และงานค้นคว้าวิจัย
    3. ให้บริการกับนักวิจัยทางด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชของประเทศไทย และประเทศในภูมิภาค โดยการ
      ฉายรังสี เฉียบพลัน (acute) และแบบ โครนิก (chronic)
    4. ฝึกอบรมการใช้เทคนิคการกลายพันธุ์ ในการปรับปรุงพันธุ์พืช ทั้งในระดับประเทศและในระดับภูมิภาค
    5. วิจัยทางด้านการใช้เทคนิคการกลายพันธุ์เพื่อการปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจ
    6. จัดประชุมและสัมมนาวิชาการทางด้านการใช้เทคนิคการกลายพันธุ์ในการปรับปรุงพันธุ์พืช และการ
      ใช้นิวเคลียร์เทคโนโลยีทางด้านเกษตร
    7. ถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยให้ข้อมูลทางวิชาการการสร้างพันธุ์ไม้ดอก-ไม้ประดับด้วยรังสีและให้ข้อมูลทาง
      วิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร และเผยแพร่พันธุ์พืชให้เกษตรกร

              เพื่อให้เป็นไปตามภาระหน้าที่ที่กำหนดศูนย์ฯ ได้ดำเนินการต่างๆ ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ดังต่อไปนี้

สนับสนุนการเรียนการสอนการทำปัญหาพิเศษ การวิจัย และวิทยานิพนธ์
              จากภาระหน้าที่และความรับผิดชอบที่กำหนดไว้ ศูนย์ฯได้ดำเนินการตามภาระหน้าที่อย่างเต็มที่ ทั้งในด้าน
การสนับสนุนการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเป็นแหล่งที่นิสิตนักศึกษามาดูงาน และรับความ
รู้เกี่ยวกับการใช้เครื่องฉายรังสี ซึ่งศูนย์ฯมีอยู่ 2 เครื่องที่ใช้ในการฉายรังสีแบบโครนิคและแบบเฉียบพลัน นอกจาก
นี้ยังได้ให้บริการฉายรังสีเพื่อการเรียนการสอน การทำปัญหาพิเศษ และวิทยานิพนธ์ ของนิสิต นักศึกษา ทั้งใน
มหาวิทยลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันการศึกษาอื่นๆ เช่นมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัย
เทคโนโลยีสุรนารี เป็นต้น นอกจากนี้ในส่วนของนักวิจัย และอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์ฯได้ให้
ความร่วมมือในการให้บริการฉายรังสี จนก่อให้เกิดงานวิจัยทางด้านการใช้รังสีในการปรับปรุงพันธุ์พืชขึ้นหลายโครง
การ ที่เป็นของบุคลากรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ให้บริการฉายรังสีกับนักวิจัยทางด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชของประเทศไทย
              ศูนย์ฯได้ให้บริการแก่ นักวิจัยของหน่วยราชการต่างๆ เช่นนักวิจัยจากกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริม
การเกษตร มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งจากภาคเอกชน ตัวอย่าง บริษัทบางกอกกรีนจำกัด ได้นำโปรโตคอร์มของ
กล้วยไม้มาฉายรังสี เมื่อปี พ.ศ. 2543 และในปี พ.ศ. 2545 นักวิจัยของบริษัทได้ประสบความสำเร็จในการ
ได้กล้วยไม้พันธุ์กลาย จากการฉายรังสี ซึ่งความสำเร็จนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาพันธุ์กล้วยไม้ไทย
นอกจากให้บริการฉายรังสีแก่นักวิจัยทั่วไปแล้วยังได้ให้บริการฉายรังสีกับเกษตรกร ที่นำตัวอย่างพืชมาให้ฉาย
รังสีด้วย

การจัดฝึกอบรมการใช้เทคนิคการกลายพันธุ์ในการปรับปรุงพันธุ์พืชให้กับนักวิชาการและเกษตรกร
              ศูนย์ฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปรับปรุงพันธุ์พืช และการสร้างพันธุ์ใหม่ เนื่องจากพันธุ์พืช
เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญของกระบวนการผลิตทางด้านการเกษตร เกษตรกรจำเป็นต้องมีพืชพันธุ์ใหม่ที่ทนต่อโรค
แมลง ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ให้ผลผลิตสูงมีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งจะช่วยเกษตรกร
ในการลดต้นทุนการผลิต รักษาสภาพแวดล้อมและเพิ่มรายได้ เทคนิคการปรับปรุงพืชโดยใช้รังสีแกมมาเหนี่ยว
นำให้กลายพันธุ์ เป็นเทคนิคที่มีประสิทธิภาพสามารถนำมาใช้ในการสร้างพืชพันธุ์ใหม่ ให้มีลักษณะดีตามต้องการ
ได้ ทั้งช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาให้สั้นลง ศูนย์ฯเห็นความสำคัญของการแนะนำและสนับสนุนให้มีการใช้รังสี
การปรับปรุงพันธุ์พืชอย่างกว้างขวาง ทั้งในหมู่นักวิชาการ นักวิจัยและเกษตรกร จึงได้ดำเนินการจัดให้อบรม
เชิงปฏิบัติการขึ้นหลายครั้ง โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ให้สนับสนุนการจัดฝึกอบรมตั้งแต่ปี พ.ศ.
2539 เป็นต้นมา มีตัวอย่างของการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการต่างๆ ดังนี้

  1. จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง " Workshop on Induced Mutation and Molecular Techniques for Crop
    Improvement "
    ระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม 2539 ให้กับอาจารย์และนักวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ รวม 60
    คนและได้รับการสนับสนุนวิทยากรชาวต่างประเทศจำนวน 2 คือ Dr. E . Amano จาก IAEA และ Dr. I.A.
    Malik
    จาก AVRDC
  2. การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง " การปรับปรุงพันธุ์พืชโดยเทคนิคการกลายพันธุ์" ระหว่างวันที่ 21-25
    ธันวาคม 2541 ให้กับนักวิจัยของกรมวิชาการเกษตรจำนวน 20 คน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ
    ในการจัดฝึกอบรมจากกรมวิชาการเกษตร
  3. จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง " การใช้เทคนิคการกลายพันธุ์ในการสร้างความหลากหลายทางพันธุกรรมและ
    การปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจ " ให้กับอาจารย์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย สถาบันราชภัฎ
    และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ระหว่างวันที่ 16-20 สิงหาคม 2542 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการ
    จัดบางส่วนจากโครงการ BRT
  4. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง " การสร้างพันธุ์ไม้ดอก-ไม้ประดับให้สวยด้วยรังสี " ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอก
    ไม้ประดับทั่วประเทศ ระหว่าง พ.ศ. 2542-2543 รวม 8 ครั้ง มีผู้เข้ารับการอบรม 340 คน กรมส่งเสริมการเกษตร
    เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดฝึกอบรม
  5. จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติ " Workshop on In Vitro Mutagenesis and Molecular Marker Analysis of Ornamental
    Plants "
    โดยได้รับการสนับสนุนวิทยากรชาวต่างประเทศ 3 คน จากทบวงการฯ (IAEA) คือ Dr. Mohan Jain,
    Dr. Perry Gustafson
    และ Dr. Praveen Saxena มีผู้เข้ารับการอบรมเป็นนักวิชาการและอาจารย์จากสถาบันการ
    ศึกษาและมหาวิทยาลัยต่างๆ รวม 37 คน ระหว่างวันที่ 18-22 ธันวาคม 2543
  6. จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง " การสร้างพันธุ์ไม้ดอก-ไม้ประดับให้สวยด้วยรังสี "สำหรับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการ
    เกษตรกรมส่งเสริมการเกษตรรวม 2 ครั้ง มีผู้เข้ารับการอบรม 60 คน ระหว่าง พ.ศ. 2543-2544 โดยกรมส่งเสริม
    การเกษตรสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมทั้ง 2 ครั้ง
  7. จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง " การสร้างพันธุ์ไม้ดอก-ไม้ประดับให้สวยด้วยรังสี " สำหรับเกษตรกรและผู้สนใจ
    จำนวน 6 ครั้ง ระหว่าง 21 กันยายน -26 ตุลาคม 2544 มีผู้เข้ารับการอบรม 240 คนโดยได้รับงบประมาณจากทบวง
    มหาวิทยาลัยภายใต้โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี

          นอกจากนี้ศูนย์ฯร่วมกับภาควิชารังสีฯกำลังดำเนินจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การใช้เทคนิคการกลายพันธุ์เพื่อสร้างความหลากหลายทางพันธุกรรมและการปรับปรุงพันธุ์พืชรุ่นที่ 2" ระหว่างวันที่
23-26 เมษายน 2545 สำหรับอาจารย์จากสถาบันราชภัฏ และราชมงคลรวมทั้งนักวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ


งานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีพันธุ์พืชเพื่อการปรับปรุงพืชพันธุ์เศรษฐกิจ
          งานวิจัยถือเป็นภาระหน้าที่ที่สำคัญของศูนย์ฯ ซึ่งการวิจัยจะก่อให้เกิดองค์ความรู้และผลิตผลที่สามารถนำไป
ใช้ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และเป็นประโยชน์ต่อวงการเกษตรต่อไป ในปีพ.ศ. 2542-43 ศูนย์ฯ ได้จัดทำโครง
การขอความช่วยเหลือทางวิชาการไปยังทบวงการฯ และได้รับความช่วยเหลือภายใต้โครงการ THA/5/045 ชื่อ
"Radiation induced mutation for bean and chrysan themum"
ความช่วยเหลือประกอบด้วยทุนสำหรับผู้เชี่ยวชาญ
จำนวน 3 ทุน ทุนฝึกอบรม และทุนดูงาน 6 ทุน และอุปกรณ์ต่างๆ มูลค่าความช่วยเหลือ 88,600 เหรียญสหรัฐฯนอก
จากนี้อาจารย์จากภาควิชารังสีฯ และอาจารย์จากภาควิชาพืชสวน ได้จัดทำชุดโครงการในนามของศูนย์ฯ ชื่อ
โครงการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจโดยวิธีการเหนี่ยวนำให้กลายพันธุ์ ซึ่งประกอบด้วยไม้ดอกไม้ประดับ
ได้แก่ เบญจมาศ ปทุมมา ขิงแดง พุทธรักษา และกล้วยไม้ ไม้ผลซึ่งได้แก่ มังคุด และพืชไร่ได้แก่ถั่วเขียวโดยได้
รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนา ในระยะเวลาที่ดำเนินการจาก พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา ได้ก่อ
ให้เกิดองค์ความรู้ทางด้านการใช้เทคนิคการกลายพันธุ์ในการปรับปรุงพันธุ์พืชอย่างกว้างขวางและองค์ความรู้นั้น
ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการถ่ายทอดสู่นักวิชาการ เกษตรกร และประชาชนโดยทั่วไป


          นอกจากนี้พืชพันธุ์กลายที่ได้จากการวิจัยซึ่งได้แก่พุทธรักษา ได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์กับมหาวิทยาลัยเกษตร
ศาสตร์จำนวน 22 พันธุ์ พุทธรักษาพันธุ์กลายต่างเหล่านี้ได้มีการขยายพันธุ์และมีผู้สนใจนำพันธุ์กลายไปปลูกหลาย
ราย เบญจมาศพันธุ์กลายที่ได้จากโครงการวิจัย ซึ่งได้ผ่านการประเมินการยอมรับจากเกษตรกรผู้ปลูกเบญจมาศ
ของจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงรายแล้วได้มีการดำเนินการขอตั้งชื่อและรับรองพันธุ์พืชกับมหาวิทยาลัยเกษตร
ศาสตร์จำนวน 6 พันธุ์ ภายใต้ชื่อ เกษตรศาสตร์ 60-1, 60-2, 60-3, 60-4, 60-5 และ60-6 ซึ่งจะได้มีการประสาน
งานให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการขยายพันธุ์ให้เกษตรกรปลูกเป็นการค้าต่อไป

การจัดประชุมและสัมมนาทางวิชาการทางด้านการใช้เทคนิคการกลายพันธุ์ในการปรับปรุงพันธุ์พืช
และการใช้นิวเคลียร์เทคโนโลยีทางด้านการเกษตร

          ศูนย์ได้ดำเนินภารกิจดังกล่าวข้างต้นโดยสนับสนุนการจัดประชุมและสัมมนาวิชาการโดยรับเป็นเจ้าภาพ
ร่วมกับหน่วยงานระดับนานาชาติ เช่น

  1. เป็นเจ้าภาพสถานที่ให้กับทบวงการฯ ในการประชุม Regional Technical Co-operation Project
    (RAS/5/037), Project Formulation Meeting on Mutational Enhancement of Genetic Diversity in
    Rice
    ระหว่างวันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ 2542 มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 11 ประเทศรวม 20 คนจัด ณ.
    ศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี
  2. ประสานงานในการจัด "The 2001 FNCA Workshop in Agriculture: Plant Mutation Breeding and
    Biofertilizer"
    ณ. โรงแรมรามาการ์เดนส์ ระหว่าง 20-24 สิงหาคม 2544 มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 8 ประเทศ
    จำนวน 50 คน

 ถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยให้ข้อมูลทางวิชาการทางด้านสร้างพันธุ์ไม้ดอก-ไม้ประดับด้วยรังสี และให้
ข้อมูลทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร
          ศูนย์ฯได้เป็นแหล่งสำคัญในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและให้ข้อมูลทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อ
เกษตรกรและนักวิชาการโดยทั่วไป นอกเหนือจากการจัดฝึกอบรมแล้ว ยังได้มีการเผยแพร่ข้อมูลทาง
วิชาการผ่านสื่อต่างๆ เช่นหนังสือพิมพ์ วารสารทางการเกษตร วิทยุ โทรทัศน์ internet ทั้งในประเทศและ
ต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ ตัวอย่างเช่น

รายการวิทยุ

  • รายการ "ความรู้รอบโลก" และ "เกษตรกรรมนำไทย" ออกอากาศทางวิทยุ FM.92.5 วันที่ 18 กันยายน
    2544 เวลา 11.15-11.40 น.
  • WREN MEDIA (World radio for the environment) สัมภาษณ์โดยMr. Michael Pickstock พ.ศ. 2544
    ออกอากาศในเอเชียและอาฟริกา
  • รายการสนทนาวิทยุของ อสมท. คลื่น 114.5 ภาค AM วันที่ 10 เมษายน 2544 เวลา 15.00-17.00
  • วิทยุศึกษา รายการ 92 สนทนา คลื่น FM 92 และ AM 1161 เรื่อง "การใช้รังสีเหนี่ยวนำให้เกิดการ
    กลายพันธุ์พืช" สัมภาษณ์โดย ผศ.ดร.บวร ปภัสสราทร วันที่ 10 สิงหาคม 2543 เวลา 9.45-11.00 น.
  • รายการ "โคบอลท์-60 กับผลผลิตการเกษตร" วิทยุ มก. คลื่น AM 110 KHZ วันที่ 15 มิถุนายน 2543
    เวลา 15.30-15.50 น.

รายการโทรทัศน์

  • รายการเกษตรลูกทุ่ง หัวข้อ การฉายรังสีปรับปรุงพันธุ์พืช ช่อง ITV วันที่ 14 พฤศจิกายน 2545
    เวลา 16.00-17.00 น.
  • รายการ "เมืองไทยรายวัน" ช่อง 9 อสมท. วันที่ 14 ตุลาคม 2544
  • รายการ "เพื่อนหญิง พลังหญิง" ช่อง 9 อสมท. วันที่ 28 กันยายน 2544
  • รายการประทีปปริทรรศน์ ตอน "พืชพันธุ์ใหม่" ออกอากาศสถานีโทรทัศน์ชอง 11 วันที่ 17 มีนาคม 2544
  • รายการ "สไปซ์ 2000" หัวข้อ "เทคโนโลยีรังสี" SPICE HI-TECH สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เวลา 8.40 น.
    วันที่ 13 สิงหาคม 2543
  • รายการ "เมืองไทยวันนี้" ช่อง 3 วันที่ 27 กรกฎาคม 2543 เวลา 19.40 น.
  • รายการ "จับตาสถานการณ์" ในหัวข้อ "การใช้รังสีและเรดิโอไอโซโทปในการกลายพันธุ์พืช" ช่อง 11 วันที่
    29 พฤศจิกายน 2543 เวลา 8.10-8.30 น.

หนังสือพิมพ์/วารสารทางการเกษตร/นิตยสาร

  • New Agriculturist-On-line 'A glowing success in floriculture
    http : //www.new-agri.co.uk/01-5/focuson4.html, September 2001.
  • นิตยสารมติชนบท(เทคโนโลยีชาวบ้าน) ปักษ์แรก ปีที่ 13 ฉบับที่ 268 : 1 สิงหาคม2544 หัวข้อ
    "สร้างพุทธรักษาพันธุ์ใหม่ด้วยการฉายรังสี"
  • กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม 2543 หัวข้อ "นักวิจัยใช้รังสีช่วยเกษตรกรกลายพันธุ์พืช"
  • นิตยสารมติชนบท(เทคโนโลยีชาวบ้าน) ปีที่ 12 ฉบับที่ 244 วันที่ 1 สิงหาคม 2543 หัวข้อ
    "สร้างไม้ดอก ไม้ประดับให้สวยด้วยรังสี"
  • หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 30 มิถุนายน 2543 หัวข้อ "ฉายรังสีสร้างไม้ดอกพันธุ์ใหม่"
  • กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2543 หัวข้อ "สร้างไม้ดอกด้วยรังสี"
    นอกจากนี้ทางศูนย์ฯ ให้คำแนะนำและความรู้แก่ผู้สนใจที่มาขอข้อมูล และขอรับคำแนะนำ
    ที่ศูนย์ฯ โดยตรง หรือบางครั้งสอบถามทางโทรศัพท์ หรือโดยการเขียนจดหมายสอบถาม
    ซึ่งภารกิจส่วนนี้ทางศูนย์ฯ ได้ปฏิบัติเป็นประจำ