เมื่อนำพืชหรือส่วนของพืชที่ใช้ขยายพันธุ์ได้ เช่น เมล็ด ใบ ราก เหง้า ฯลฯ
มาฉายรังสีแกมมา รังสีจะถ่ายเทพลังงานให้กับเซลล์พืชก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ทางชีวเคมีขึ้นกับองค์ประกอบต่างๆ ภายในเซลล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสารพันธุกรรม
หรือที่เรียกว่ายีน ซึ่งเป็นตัวกำหนดลักษณะต่างๆ ของพืช ควบคุมกิจกรรมต่างๆ ของ
เซลล์พืช หรือสารพันธุกรรมเปลี่ยนแปลงเนื่องจากได้รับพลังงานจากรังสีแกมมา ก็
จะทำให้หน้าที่ที่สารพันธุกรรมนั้นทำอยู่หรือควบคุมบังคับบัญชาอยู่ เปลี่ยนแปลงไป
ด้วย เมื่อเซลล์นั้นแบ่งตัวพัฒนาเป็นต้นพืชก็จะได้ลักษณะที่ต่างไปจากเดิมเรียกว่า
เกิดการกลายพันธุ์ พืชที่มีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นเรียกว่า พันธุ์กลาย ซึ่งสามารถขยาย
เป็นพืชพันธุ์ใหม่ได้

  
            รังสีแกมมาทำให้เกิดการกลายพันธุ์โดยการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมที่
ควบคุมลักษณะต่างๆ หรือควบคุมกระบวนการต่างๆ ภายในเซลล์ของพืช เมื่อมีการ
กลายพันธุ์เกิดขึ้นจากการเหนี่ยวนำด้วยรังสีแกมมา จะทราบได้อย่างไรว่ามีการ
กลายพันธุ์เกิดขึ้นในพืช

              จะทราบได้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏให้เห็น หรือที่เรียกว่า การ
เปลี่ยนแปลงทาง ฟีโนไทป์ของพืช ลักษณะที่ปรากฏอาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น
การเปลี่ยนแปลงของสีดอก สีใบ รูปทรงดอก รูปทรงใบ ความสูงของต้นพืชเปลี่ยน
ไป มีอายุการออกดอก ติดผลเร็วขึ้นหรือช้าลง ซึ่งง่ายต่อการคัดเลือกนำมาใช้
ประโยชน์ และไม้ดอกไม้ประดับก็อยู่ในกลุ่มของพืชที่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง
ทางฟีโนไทป์จะสามารถใช้ประโยชน์ได้โดยง่าย เนื่องจากไม้ดอกไม้ประดับส่วน
ใหญ่คุณค่าของพืชอยู่ที่ลักษณะที่ปรากฏแก่สายตาไม่ว่าจะเป็นลักษณะการเปลี่ยน
แปลงของสี หรือรูปร่าง ความแปลก และแตกต่างจากพันธุ์เดิมสามารถนำมาขยาย
พันธุ์เป็นพันธุ์ใหม่ได้ทันที

 

              การกลายพันธุ์ในบางลักษณะเป็นการกลายพันธุ์ที่ไม่สามารถมองให้เห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น ลักษณะทางปริมาณ
หรือคุณภาพ เช่นปริมาณของแป้ง น้ำตาล ไขมัน และโปรตีน ของพืชอาหารโดยลักษณะดังกล่าวเมื่อเกิดการกลายพันธุ์หรือ
เปลี่ยนแปลงไป ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องมีวิธีการคัดเลือกหรือวิธีการวิเคราะห์โดยเฉพาะ ซึ่งวิธีการจะยุ่งยาก
และมีขั้นตอนมากกว่าในไม้ดอกไม้ประดับ รวมทั้งต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ตัวอย่างเช่น การปรับปรุงพันธุ์ข้าวของไทยโดย
ใช้รังสีแกมมา ต้องใช้เวลากว่า 10 ปี จึงจะได้พันธุ์ข้าวที่กลายพันธุ์ออกมาเป็นพันธุ์ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก ซึ่งได้แก่ กข 6
และ กข 15

              ดังนั้น ไม้ดอกไม้ประดับจึงเป็นพืชที่น่าสนใจในการใช้รังสีแกมมามาเหนี่ยวนำให้กลายพันธุ์เนื่องจากลักษณะที่
ต้องการในไม้ดอกไม้ประดับ เกิดการกลายพันธุ์ได้ง่าย หลังจากคัดเลือก ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวน ก็สามารถออกเป็นพันธุ์ใหม่
ได้โดยง่าย ไม่ต้องผ่านขั้นตอนการทดสอบผลผลิต หรือการรับรองพันธุ์เหมือนอย่างในพืชไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชอาหารที่ต้อง
ใช้เวลานานกว่า มีขั้นตอนและยุงยากมากกว่า


เตรียมส่วนของพืชเพื่อฉายรังสี

              พิจารณาว่าพืชที่ต้องการสร้างพันธุ์ใหม่มีวิธีการขยายพันธุ์อย่างไร ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดหรือส่วนอื่นๆ ได้ ให้เลือก
ส่วนที่ขยายพันธุ์ได้ เช่น เมล็ด หัวใต้ดิน ใบ กิ่ง ราก เหง้า หรือเนื้อเยื่อเพาะเลี้ยงหลักการง่ายๆ คือ เลือกส่วนของพืชที่ใช้
ในการขยายพันธุ์ตามปกติ ซึ่งสามารถให้ต้นใหม่ หน่อใหม่ กิ่งใหม่ ได้เมื่อนำออกปลูก

              ตัวอย่าง พุทธรักษา - เตรียมเหง้า(ไรโซม) และหน่อจำนวนประมาณ 50 เหง้าเพื่อเตรียมการฉายรังสี
                             ปทุมมา - เตรียมเหง้าหรือหัวของปทุมมา จำนวน 50 หัวเพื่อเตรียมการฉายรังสี

              นำเหง้า และหน่อของพุทธรักษา หรือเหง้า หรือหัวใต้ดินของปทุมมา เข้าฉายรังสีโดยเครื่องฉายรังสีแกมมา มาร์ค
วัน หรือใช้ห้องฉายรังสี ปริมาณรังสีที่ใช้ 2,000 - 3,000 แรด

  
  
เหง้าและหน่อพุทธรักษา
เหง้าหรือหัวของปทุมมา
            นำเหง้าและหน่อของพุทธรักษา และเหง้าหรือหัวของปทุมมา ลงปลูกในกระถาง หรือในแปลงที่เตรียมดิน
เรียบร้อยแล้ว
            ดูแลการให้น้ำ กำจัดวัชพืชตามปกติเพื่อให้พุทธรักษา และปทุมมาเจริญเติบโตเกิดต้นใหม่ และหน่อใหม่
            เมื่อพุทธรักษา และปทุมมาเจริญเติบโตจนถึงระยะให้ดอกบาน ตรวจสอบลักษณะช่อดอก สีดอก ว่าแตกต่าง
จากพันธุ์เดิมหรือไม่
            หน่อที่เกิดหน่อแรกอาจไม่พบการกลายพันธุ์ แต่จะพบในหน่อที่เกิดหน่อที่ 2 หรือหน่อที่ 3 เป็นต้นไป
พุทธรักษาเท่าที่ศึกษาพบว่า ตรวจพบการกลายพันธุ์ได้เร็วที่สุดประมาณ 6 เดือน ที่พบช้าที่สุดประมาณ 18 เดือน
หลังจากการฉายรังสี

           ให้แยกพันธุ์กลายออกจากกอเดิม นำออกปลูกลงกระถาง เพื่อขยายพันธุ์และตรวจสอบว่ายังคงลักษณะที่กลาย
พันธุ์อยู่หรือไม่ พุทธรักษาที่แยกออกมามีบางส่วนที่สูญเสียลักษณะที่กลายพันธุ์ไป โดยกลับคืนเป็นลักษณะของพันธุ์
เดิม แต่ส่วนใหญ่แล้วเมื่อแยกออกมาจากกอเดิมก็จะให้หน่อใหม่ ต้นใหม่ที่ยังคงลักษณะของพันธุ์กลายไว้ได้

  1. การเปลี่ยนเฉพาะสีดอก ลักษณะสีที่ได้มักจะเป็นสีที่จางกว่าพันธุ์เดิม ออกลักษณะใส หวาน โดยที่ลักษณะของ
    กลีบดอก ช่อดอก หรือทรงต้น คล้ายคลึงพันธุ์เดิมเช่นการเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีเหลือง สีชมพู เปลี่ยนเป็นขาวครีม
    สีแดงเข้มกระแดง เปลี่ยนเป็นสีชมพูอมเหลืองสดใส
  2. การเปลี่ยนฟอร์มของดอก นอกจากการเปลี่ยนของสีแล้ว บ่อยครั้งที่พบว่าจะมีการเปลี่ยนฟอร์มของดอกและ
    ลักษณะกลีบดอกด้วย โดยขนาดของดอกและกลีบดอกเล็กลงกว่าพันธุ์เดิม
  3. การเปลี่ยนแปลงสีของใบและทรงต้นสีของใบและก้านใบเปลี่ยนไปด้วย เป็นการเปลี่ยนก้านใบและสีใบจากสีแดง
    เป็นสีเขียวล้วนหรือเป็นใบลาย ใบด่าง เปลี่ยนทรงต้นจากสูงเป็นต้นค่อนข้างเตี้ย
  4. การเปลี่ยนแปลงหลายๆ ลักษณะ เช่น ต้นเตี้ยใบด่างลาย ฟอร์มดอกเปลี่ยน สีดอกเปลี่ยนไปด้วย พันธุ์กลายที่มี
    ลีกษณะเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างพร้อมกันอาจไม่สวยงามพอที่จะเป็นพันธุ์ใหม่ ให้สันนิษฐานว่าปริมาณรังสีที่ใช้
    ในการฉายรังสีสูงเกินไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อยีนที่ควบคุมลักษณะต่างๆ หลายยีนด้วยกัน ดังนั้น
    ปริมาณรังสีที่ใช้ต้องไม่สูงเกินไปที่จะทำให้พืชพิกลพิการ และปริมาณรังสีต้องไม่ต่ำเกินไปจนพืชไม่เกิดการ
    เปลี่ยนแปลง